แนะนำการดื่มนมวัวสำหรับคนแพ้น้ำตาลแลคโตส

“นม” มีประโยชน์ต่อร่างกาย ที่ช่วยเสริมแคลเซียม แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมบางคนถึงดื่มนมแล้วท้องเสีย ท้องอืด ในขณะที่หลายๆคนดื่มนมได้ปกติไม่มีอาการใดๆ นั้นอาจเกิดการแพ้น้ำตาลแคคโตสในนมและในผลิตภัณฑ์นมทุกประเภทนั่นเอง

การแพ้น้ำตาลแลคโตสในนม 

อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) เกิดจากการที่ลำไส้ไม่สามารถผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยน้ำตาลแลคโตสซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่พบมากในน้ำนมได้เพียงพอ เมื่อน้ำตาลแลคโตสที่ไม่ถูกย่อยและไม่ดูดซึมที่ลำไส้เล็ก จะถูกย่อยโดยกระบวนการหมักที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดก๊าซในลำไส้ ทำให้มีอาการท้องอืด ปวดท้อง ผายลมบ่อย คลื่นไส้อาเจียนและน้ำตาลที่ไม่ย่อยจะดูดน้ำกลับกลับเข้าสู่ลำไส้ทำให้ท้องเสีย ถ่ายเหลว โดยอาการจะเกิดหลังดื่มนมประมาณ 30 นาที-2 ชั่วโมง  

วิธีปรับการดื่มนมกับภาวะแพ้น้ำตาลแลคโตสในนมวัว 

1.ผู้ที่มีภาวะนี้ยังคงสามารถดื่มนมได้สูงสุดประมาณครึ่งถ้วยโดยไม่มีอาการใดๆ และสามารถรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส ได้เล็กน้อย 

2.ดื่มครั้งละน้อยๆไปเรื่อยๆ ในเวลาที่ต่างๆกัน จะสามารถทำให้ดื่มนมได้ปริมาณรวมมากขึ้น 

3.หากไม่ได้ดื่มนมมาเป็นเวลานาน แนะนำค่อย ๆ เริ่มดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์นมในปริมาณน้อย และสังเกตอาการท้องอืด ท้องเสีย เป็นระยะ หากไม่มีอาการเกิดขึ้น จึงเพิ่มปริมาณการบริโภคในครั้งต่อไป 

4.หลีกเลี่ยงการดื่มนมขณะท้องว่าง เพราะอาการจะเป็นมากขึ้น ในทางกลับกันถ้าดื่มนมพร้อมอาหารจะสามารถทนปริมาณแลคโตสได้มากขึ้น  

5. ปัจจุบันมีนมวัวทางเลือก คือนมวัวที่ระบุข้างกล่องว่า “แลคโตสฟรี” (lactose free) ซึ่งจะไม่มีน้ำตาล lactose ที่เป็นสาเหตุทำให้ไม่สบายท้อง

6. เลือกดื่มนมจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนต์ นมโอ๊ต เป็นต้น ที่มีระบุบนฉลากว่า เสริมแคลเซียม และน้ำตาลน้อย เป็นต้น

ไม่ดื่มนมส่งผลเสียต่อกระดูก

สำหรับคนที่เลี่ยงไม่ดื่มนมอาจทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีน ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายโดยเฉพาะในเรื่องของกระดูก ความสูงในวัยเด็ก และความบาง ความเปราะของกระดูกในผู้สูงวัย ถ้ายังคงทานนมไม่ได้จริงๆ ควรเลี่ยงไปดื่มนมวัวที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส หรือรับประทานอาหารเสริมจำพวก แคลเซียมและวิตามินดี 

อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภาวะแพ้น้ำตาลแลคโตสในนมลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ อาจจะช่วยให้ทานนมได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ปริมาณนมที่จะดื่มต้องขึ้นอยู่กับอาการแพ้มากน้อยต่างกันไปแต่ละคน ต้องสังเกตอาการของตัวเองด้วยนะคะ