โรคลมแดด คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา

อากาศที่ร้อนจัดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมแดดได้ หากเป็นแล้วก็ควรที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอื่นๆตามมา

โรคลมแดด คืออะไร?

โรคลมแดด (Heatstroke) คือ ภาวะที่ร่างกายมีความร้อนที่มากจนเกินไป ซึ่งสาเหตุมักจะเกิดจากการใช้แรงงาน การทำงาน การออกกำลังกายในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูง โดยภาวะฮีทสโตรกมักจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูง 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น และมักจะเกิดภาวะนี้ในช่วงฤดูร้อน

ภาวะฮีทสโตรก อาจเกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆได้ เช่น หัวใจ ไต ปอด กล้ามเนื้อ และสมอง หากมีภาวะ Heatstroke แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงขั้นพิการ และบางรายอาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้

สาเหตุของการเกิดโรคลมแดด

  • โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายอย่างหนัก สาเหตุมักเกิดจากความร้อนจากสิ่งแวดล้อมที่มีมากจนเกินไป มักที่จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังซึ่งไม่สามารถทนต่ออากาศที่ร้อนจัดได้ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย เกิดจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด และเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย
  • โรคลมแดดที่เกิดจากการใช้กำลังกายอย่างหนัก สำหรับกรณีนี้สาเหตุเกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือทำงานในบริเวณพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงจนเกินไป การสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาเกินไปขณะทำงานในพื้นที่อุณหภูมิสูงจนทำให้เหงื่อระเหยหรือร่างกายระบายความร้อนได้ยาก

อาการของผู้ที่เป็นโรคลมแดด

อาการของโรคลมแดดจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีที่สัมผัสอากาศร้อน โดยมักจะจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสถานที่อากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน หรือออกกำลังกายในพื้นที่ที่อุณหภมิสูง หากอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ก็จะมีอาการปวดศรีษะ วิงเวียนศรีษะ คลื่นไส้ อ่อนแรง ถ้าอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจทำให้มีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น พูดไม่ชัดเจน สับสน เห็นภาพหลอน กระสับกระส่าย ถ้ามีอาการรุนแรงก็จะทำให้ชักเกร็งและโคม่าได้

การรักษา

สำหรับการรักษาโรคลมแดด ทำได้โดยการลดอุณหภูมิของร่างกาย ให้พาผู้ป่วยไปพักในที่ร่มหรือในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น ให้คลายเครื่องแต่งกายของผู้ป่วยที่รัดแน่นจนเกินไป ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นมาเช็ดตัว นำถุงน้ำแข็งมาวางที่ศรีษะ รักแร้ ขาหนีบ ลำคอ ให้ผู้ป่วยแช่ในอ่างน้ำเย็นในระหว่างที่รอรถพยาบาล ระหว่างนี้ห้ามให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะว่าจะทำให้ความสามารถในการปรับอุณหภูมิร่างกายสูญเสียไป

ควรที่จะหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัดเป็นเวลานานๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคลมแดด และหากมีความจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งก็ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่อึดอัดจนเกินไป ก็จะทำให้ร่างกายระบายความร้อนและเหงื่อได้ดีขึ้น